การเคลื่อนไหวรูปแบบต่าง ๆ ในการเล่นกีฬาและการเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์

ลักษณะการเคลื่อนไหวเบื้องต้นของร่างกาย
การเคลื่อนไหวเบื้องต้นของร่างกายโดยทั่วไปมี 2 ลักษณะ คือการเคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนที่และการเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่
1.  การเคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนที่  เป็นการใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเคลื่อนไหวโดยที่ร่างกายอยู่กับที่  เช่น  การอ้าปาก  หุบปาก  การยกไหล่ขึ้นลง  การกระพริบตา เป็นต้น  ส่วนท่าทางในการปฏิบัติภารกิจประจำวันและท่าทางที่ใช้ในการออกกำลังกาย เล่นกีฬาโดยทั่วไปดังนี้
·       การก้ม  คือการงอพับตัวให้ร่างกายส่วนบนลงมาใกล้กับส่วนล่าง
·       การยืดเหยียด  คือ  การเคลื่อนไหวในทางตรงข้ามกับการก้ม  โดยพยายามยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
·       การบิด  คือ  การทำส่วนต่าง ๆ ของร่างกายบิดไปจากแกนตั้ง  เช่น  การบิดลำตัว
·       การดึง  คือ  การพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามาหาร่างกายหรือทิศทางใดทิศทางหนึ่ง
·       การดัน  คือ  การพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ห่างออกจากร่างกาย  เช่น  การดันโต๊ะ
·       การเหวี่ยง  คือ  การเคลื่อนไหวสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  โดยหมุนรอบจุดให้เป็นเส้นโค้งหรือรูปวงกลม  เช่น  การเหวี่ยงแขน
·       การหมุน  คือ  การกระทำที่มากกว่าการบิด  โดยกระทำรอบ ๆ แกน เช่น  การหมุนตัว
·       การโยก  คือ  การถ่ายน้ำหนักตัวจากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปยังอีกส่วนหนึ่ง โดยเท้าทั้งสองแตะพื้นสลับกัน
·       การเอียง คือ  การทิ้งน้ำหนักไปยังส่วนใดส่วนหนึ่งโดยไม่ถ่ายน้ำหนัก  เช่น ยืนเอียงคอ
·       การสั่นหรือเขย่า คือ  การเคลื่อนไหวสั่นสะเทือนส่วนต่าง ๆ ของร่างกายซ้ำ ๆ ต่อเนื่องกัน  เช่น  การสั่นหน้า  เขย่ามือ  สั่นแขนขา
·       การส่าย  คือ  การบิดไปกลับติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง เช่น  การส่ายสะโพก  ส่ายศีรษะ
2.  การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่ เป็นการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ได้แก่ การเดิน  การวิ่ง  การกระโดด  การเขย่ง  การสไลด์
การเคลื่อนไหวของร่างกาย
การเคลื่อนไหว  คือ  การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่ต่อเนื่องกัน โดยส่วนที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว  ได้แก่  กลไกการทำงานของข้อต่อ  กล้ามเนื้อและระบบประสาท
กลไกการเคลื่อนไหวของข้อต่อ
ชนิดของข้อต่อ
ข้อต่อ  คือ  ส่วนที่เชื่อมยึดระหว่างกระดูกกับกระดูกหรือระหว่างกระดูกกับกระดูกอ่อนหรือกระดูกอ่อนกับกระดูกอ่อนเชื่อมต่อกัน  โดยมีเอ็นและพังผืดยึดเหนี่ยวให้กระดูกติดกัน ข้อต่อจะเคลื่อนไหวได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเชื่อมต่อของปลายกระดูกนั้น ซึ่งลักษณะของข้อต่อที่พบแบ่งได้ 3  ชนิด
1.  ข้อต่อที่เคลื่อนไหวไม่ได้  เป็นข้อต่อที่มีลักษณะคล้ายฟันปลามาเชื่อมต่อกันระหว่างปลายกระดูกแต่ละชิ้น  ได้แก่  ข้อต่อกะโหลกศีรษะ
2.  ข้อต่อที่เคลื่อนไหว  เป็นข้อต่อที่ส่วนปลายกระดูกมาต่อกันโดยมีกระดูกอ่อนหรือเอ็นแทรกอยู่ระหว่างกระดูก 2 ชิ้น ได้แก่ กระดูกสันหลัง  กระดูกหัวเหน่า  กระดูกข้อมือ เป็นต้น  การเคลื่อนไหวเช่น  การกระดกฝ่ามือ  ฝ่าเท้า  การเอียงตัว
3.  ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้มาก  เป็นข้อต่อที่สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก  พบทั่วร่างกาย  ลักษณะของข้อต่อชนิดนี้จะเป็นโพรง  มีเอ็นหรือกระดูกกั้นกลาง  มีถุงหุ้มข้อต่อมีเยื่อบาง ๆ ทำหน้าที่คล้ายน้ำมันเครื่อง  ทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวง่าย  ข้อต่อชนิดนี้  ได้แก่ ข้อต่อที่สะโพก  หัวไหล่  หัวเข่า  เป็นต้น  ข้อต่อชนิดนี้ส่วนใหญ่ใช้ในการออกกำลังกาย เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ
รูปร่างและลักษณะการเคลื่อนไหวของข้อต่อ  แตกต่างกันดังนี้
1.  ข้อต่อรูปบอลในเบ้า สามารถเคลื่อนไหวได้รอบตัว  ทั้งงอ  เหยียด  กางออก  หุบเข้า  หมุนเป็นรูปกรวยหรือฝาชี  เช่น  ข้อต่อที่สะโพก  หัวไหล่  เป็นต้น
2.   ข้อต่อรูปไข่  เคลื่อนไหวไปข้างหน้า  ข้างหลังและข้าง ๆ ในลักษณะงอและเหยียด  เช่น  ข้อต่อของข้อมือ
3.  ข้อต่อรูปอานม้า เคลื่อนไหวในลักษณะการงอ  เหยียด  กางและหุบเข้า  เช่น  ข้อต่อของฝ่ามือโคนนิ้ว- หัวแม่มือ  ฝ่าเท้าและโคนนิ้วหัวแม่เท้า
4.  ข้อต่อรูปบานพับ เคลื่อนไหวคล้ายบานพับ  ลักษณะการงอ  การเหยียด  เช่น ข้อต่อที่ศอก  เข่า     นิ้วมือ  เป็นต้น
5.   ข้อต่อรูปเดือย สามารถหมุนรอบตัวตามแนวแกนของเดือยได้  เช่น  ข้อต่อของกระดูกชิ้นที่ 1 และ  2 กระดูกที่ปลายแขนทำให้หงายและคว่ำมือได้
6.   ข้อต่อรูปร่างแปลกหรือรูปร่างไม่แน่นอน  ไม่มีแกนในการเคลื่อนไหวจึงเคลื่อนที่ในลักษณะไถลไปมา  เช่น  ข้อต่อกระดูกข้อมือและข้อเท้า  เป็นต้น
200px-Gelenke_Zeichnung01

กลไกการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
กล้ามเนื้อส่วนใหญ่ประกอบด้วยเซลล์กล้ามเนื้อ ภายในเซลล์มีไมโอไฟบริล(myofibril) ซึ่งภายในมีซาร์โคเมียร์ (sarcomere) ประกอบด้วยแอกติน (actin) และไมโอซิน(myosin) ใยกล้ามเนื้อแต่ละเส้นล้อมรอบด้วยเอนโดไมเซียม (endomysium) หรือเยื่อหุ้มใยกล้ามเนื้อ ใยกล้ามเนื้อหลายๆ เส้นรวมกันโดยมีเพอริไมเซียม (perimysium) กลายเป็นมัดๆ เรียกว่าฟาสซิเคิล (fascicle) มัดกล้ามเนื้อดังกล่าวจะรวมตัวกันกลายเป็นกล้ามเนื้อซึ่งอยู่ภายในเยื่อหุ้มที่เรียกว่าเอพิไมเซียม (epimysium) หรือ เยื่อหุ้มมัดกล้ามเนื้อ Muscle spindleจะอยู่ภายในกล้ามเนื้อและส่งกระแสประสาทรับความรู้สึกกลับมาที่ระบบประสาทกลาง(central nervous system)
กล้ามเนื้อ (Muscle1]) เป็นเนื้อเยื่อที่หดตัวได้ในร่างกาย เปลี่ยนแปลงมาจากเมโซเดิร์ม (mesoderm) ของชั้นเนื้อเยื่อในตัวอ่อน และเป็นระบบหนึ่งของร่างกายที่สำคัญต่อการเคลื่อนไหวทั้งหมดของร่างกาย แบ่งออกเป็นกล้ามเนื้อโครงร่าง (skeletal muscle) , กล้ามเนื้อเรียบ (smooth muscle) , และกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiac muscle) [2] ทำหน้าที่หดตัวเพื่อให้เกิดแรงและทำให้เกิดการเคลื่อนที่ (motion) รวมถึงการเคลื่อนที่และการหดตัวของอวัยวะภายใน กล้ามเนื้อจำนวนมากหดตัวได้นอกอำนาจจิตใจ และจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น การบีบตัวของหัวใจ หรือการบีบรูด (peristalsis) ทำให้เกิดการผลักดันอาหารเข้าไปภายในทางเดินอาหาร การหดตัวของกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจมีประโยชน์ในการเคลื่อนที่ของร่างกาย และสามารถควบคุมการหดตัวได้ เช่นการกลอกตา หรือการหดตัวของกล้ามเนื้อควอดริเซ็บ (quadriceps muscle) ที่ต้นขา
ใยกล้ามเนื้อ (muscle fiber) ที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 ประเภทคือกล้ามเนื้อ fast twitch และกล้ามเนื้อ slow twitch กล้ามเนื้อ slow twitch สามารถหดตัวได้เป็นระยะเวลานานแต่ให้แรงน้อย ในขณะที่กล้ามเนื้อ fast twitch สามารถหดตัวได้รวดเร็วและให้แรงมาก แต่ล้าได้ง่าย
กล้ามเนื้อสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่
1.       กล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeletal Muscle) ประกอบด้วยมัดกล้ามเนื้อยาวๆ มีลักษณะเป็นลายขวาง เซลล์หนึ่งมีหลายนิวเคลียส การทำงานของกล้ามเนื้อลายควบคุมโดยระบบประสาทส่วนกลาง  เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ (Voluntary) ร่างกายสามารถควบคุมได้ ยึดติดกับกระดูก (bone) โดยเอ็นกล้ามเนื้อ (tendon) ที่ยึดกับปุ่มนูนหรือปุ่มยื่นของกระดูก ทำหน้าที่เคลื่อนไหวโครงกระดูกเพื่อการเคลื่อนที่ของร่างกายและเพื่อรักษาท่าทาง (posture) ของร่างกาย การควบคุมการคงท่าทางของร่างกายอาศัยรีเฟล็กซ์ (reflex)ที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ โดยทั่วไปร่างกายผู้ชายประกอบด้วยกล้ามเนื้อโครงร่าง 40-50% ส่วนผู้หญิงจะประกอบด้วยกล้ามเนื้อโครงร่าง 30-40%  ตัวอย่างกล้ามเนื้อลาย ได้แก่ กล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อขา
2.       กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth Muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ (Involuntary) ประกอบด้วย เซลล์ที่มีลักษณะแบนยาวแหลมหัวแหลมท้าย ไม่มีลาย ภายในเซลล์มีนิวเคลียสอันเดียวอยู่ตรงกลาง การทำงานของกล้ามเนื้อเรียบควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนวัติ ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ พบได้หลายขนาดในอวัยวะเกือบทุกชนิด ตัวอย่างเซลล์พบอยู่ที่ผนังของอวัยวะภายใน (Viseral Organ) เช่น หลอดอาหาร(esophagus) , กระเพาะอาหาร (stomach) , ลำไส้ (intestine) , หลอดลม (bronchi) , มดลูก(uterus) , ท่อปัสสาวะ (urethra) , กระเพาะปัสสาวะ (bladder) , และหลอดเลือด (blood vessel)  กล้ามเนื้อหูรูดที่ม่านตา
3.       กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่นอกอำนาจจิตใจเช่นกัน แต่เป็นกล้ามเนื้อชนิดพิเศษที่พบเฉพาะในหัวใจ เป็นกล้ามเนื้อที่บีบตัวให้หัวใจเต้น ลักษณะคล้ายกับกล้ามเนื้อโครงร่างทั้งส่วนประกอบและการทำงาน ประกอบด้วยไมโอไฟบริลและซาร์โคเมียร์ กล้ามเนื้อหัวใจแตกต่างจากกล้ามเนื้อโครงร่างในทางกายวิภาคคือมีการแตกแขนงของกล้ามเนื้อ(branching) ในมุมที่แตกต่างกัน เพื่อติดต่อกับใยกล้ามเนื้ออื่นๆ
กล้ามเนื้อลายสามารถหดตัวและคลายตัวได้รวดเร็ว ในขณะที่กล้ามเนื้อเรียบหดตัวได้น้อยและช้า กล้ามเนื้อลายและกล้ามเนื้อเรียบสามารถหดตัวได้ เมื่อมีสิ่งกระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อลาย ทำให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว โดยกล้ามเนื้อจะทำงานประสานกับโครงกระดูกและระบบประสาท

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นวิธีการในการพัฒนาทักษะการสั่งการ (motor skills), ความฟิตของร่างกาย, ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก และการทำงานของข้อต่อ การออกกำลังกายสามารถส่งผลไปยังกล้ามเนื้อ, เนื้อเยื่อเกี่ยวพันกระดูก และเส้นประสาทที่กระตุ้นกล้ามเนื้อนั้น
การออกกำลังกายหลายประเภทมีการใช้กล้ามเนื้อในส่วนหนึ่งมากกว่าอีกส่วนหนึ่ง ในการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน (Aerobic exercise) กล้ามเนื้อนั้นจะออกกำลังเป็นระยะเวลานานในระดับที่ต่ำกว่าความสามารถในการหดตัวสูงสุด (maximum contraction strength) ของกล้ามเนื้อนั้นๆ (เช่นในการวิ่งมาราธอน) การออกกำลังกายประเภทนี้จะอาศัยระบบการหายใจแบบใช้ออกซิเจน ใช้ใยกล้ามเนื้อประเภท type I (หรือ slow-twitch), เผาผลาญสารอาหารจากทั้งไขมันโปรตีน และคาร์โบไฮเดรตเพื่อให้ได้พลังงาน ใช้ออกซิเจนจำนวนมากและผลิตกรดแลกติก (lactic acid) ในปริมาณน้อย
ในการออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic exercise) จะมีการหดตัวของกล้ามเนื้อในระยะเวลารวดเร็ว และหดตัวได้แรงจนเข้าใกล้ความสามารถในการหดตัวสูงสุดของกล้ามเนื้อนั้นๆ ตัวอย่างของการออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจน เช่น การยกน้ำหนักหรือการวิ่งในระยะสั้นแบบเต็มฝีเท้า การออกกำลังกายแบบนี้จะใช้ใยกล้ามเนื้อประเภท type II (หรือ fast-twitch) อาศัยพลังงานจาก ATP หรือกลูโคส แต่ใช้ออกซิเจน ไขมัน และโปรตีนในปริมาณน้อย ผลิตกรดแลกติกออกมาเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถออกกำลังกายได้นานเท่าการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน

การเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์

กิจกรรมเข้าจังหวะเป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์ ซึ่งช่วยเสริมสร้างและพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี  เป็นการเคลื่อนไหวที่มีสุนทรียภาพก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  ความสนุกสนาน  เพราะจะได้ฝึกการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐานรวมทั้งการฝึกประกอบดนตรี  เกิดความซาบซึ้งในดนตรี  ช่วยขัดเกลาจิตใจให้อ่อนโยน  ผู้ที่ฝึกกิจกรรมเข้าจังหวะได้ดีแล้วจะสามารถฝึกการเต้นในระดับสูงได้ดีต่อไป

ทักษะที่ใช้ในกิจกรรมเข้าจังหวะเริ่มตั้งแต่การฟังเพลงเพื่อจับจังหวะ  การเคลื่อนไหวเบื้องต้น           การเคลื่อนไหวประกอบเพลง  การฝึกร้องเพลงและการฝึกปรบมือหรือใช้อุปกรณ์ประกอบจังหวะ  การฝึกประกอบ  ท่าและประกอบเพลง  เมื่อฝึกคล่องแคล่วแล้วจะฝึกสร้างสรรค์คิดท่าทางประกอบเพลงที่เลือกเพื่อเสริมสร้างการเคลื่อนไหวตามจินตลีลา

นอกจากการเลือกกิจกรรมเข้าจังหวะให้สนุกสนานไปกับเสียงเพลงและการคิดท่าทางแปลกใหม่แล้ว  กิจกรรมชนิดนี้ยังสามารถฝึกได้ในร่ม  เป็นกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ  สังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูง  ใช้สำหรับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและยังใช้เป็นการแสดงกลางแจ้งหรือการแสดงบนเวทีในโอกาสต่าง ๆ จึงเป็นกิจกรรมที่ทุกคนได้แสดงการออกกำลังกายที่พัฒนาทักษะทางสังคมและมีโอกาสใช้เสียงดนตรีเข้ามาทำให้กิจกรรมการออกกำลังกายน่าสนใจ  ใช้เป็นกิจกรรมพัฒนาบุคลิกภาพได้เป็นอย่างดีทักษะการเคลื่อนไหวที่ใช้มีตั้งแต่การฟังจังหวะ  การเคาะจังหวะ     การเดิน  การวิ่ง  การสไลด์  การกระโดด  การเขย่ง  การเดินสองจังหวะ  การวิ่งสลับเท้า  และการผสมผสานทักษะต่าง ๆ เข้ากับเสียงเพลง  หากนักเรียนมีเพลงโปรดหรือเพลงประจำตัว เมื่อนักเรียนฟังเพลงพร้อมกับร้องตามและเคลื่อนไหวประกอบเพลงไปด้วยนักเรียนก็จะมีความสุขอย่างมาก

Leave a comment